ปลดล็อคพลังความฉลาด


ขวบปีที่สามหรือ 1,365 วันแรกของชีวิต ช่วงเวลาสำคัญสุดแห่งการพัฒนาเซลล์สมอง เด็กจะฉลาดมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับช่วงนี้

สมองของมนุษย์ประกอบไปด้วยแสนล้านเซลล์สมอง ที่มีใยประสาทประสานกันเป็นร่างแห เพื่อใช้ในการติดต่อและส่งสัญญาณประสาทที่เดินทางรวดเร็วถึง 100 เมตรต่อวินาที หรือประมาณ 360 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้น ทุกครั้งที่เด็กได้เรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ เซลล์สมองจะเชื่อมต่อสร้างเป็นเครือข่ายใยประสาท ทำให้เกิดการคิดรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญให้พวกเขาพร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องราวที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น


"ช่วง 3 ปีแรก เซลล์สมองจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วถึงประมาณ 80% จึงถือเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องพยายามสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้กับลูกให้มากที่สุด หากเด็กไม่ได้รับการกระตุ้น เซลล์สมองที่ไม่ได้ใช้งานก็จะเสื่อมไป เด็กแต่ละคนจึงมีพัฒนาการที่ต่างกัน" นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าว

เพราะเซลล์สมองที่มีการทำงานจะพัฒนาและแตกแขนงออกไป นอกจากการคิดและเรียนรู้ นพ.พงษ์ศักดิ์กล่าวว่า อาหารก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะเป็นส่วนประกอบสำคัญของโครงสร้างเยื่อหุ้มโพรงประสาทภายในสมอง

นมแม่ดีที่สุดสารอาหารทุกอย่างในนมแม่ดีต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก โดยเฉพาะดีเอชเอ (DHA) ที่นมแม่มีแต่นมวัวไม่มี จะเป็นตัวช่วยในกระบวนการมองเห็น เนื่องจากเป็นสาระสำคัญสำหรับจอประสาทตา และเป็นสารประกอบของผนังเซลล์สมอง ดังนั้น 1 ขวบปีแรกของเด็ก นมเป็นอาหารหลัก และในวัย 1-3 ปี ก็จะต้องมีอาหารเสริม

แต่การศึกษาวิจัยพบว่า ศักยภาพสมองของลูกน้อยอาจถูกใช้เพียง 1% เท่านั้น ที่สำคัญการเลี้ยงดูและโภชนาการที่แตกต่างกัน จะทำให้เด็กแต่ละคนเติบโตมามีศักยภาพที่แตกต่างกันด้วย

 “วิธีการเรียนการสอนในปัจจุบัน ไม่ได้กระตุ้นให้เด็กใช้งานสมองทั้งสองซีกอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะเด็กส่วนใหญ่ได้รับการฝึกสอนให้คุ้นเคยกับการท่องจำ ซึ่งเป็นการใช้งานสมองซีกซ้ายเพียงอย่างเดียว ในขณะที่สมองซีกขวาที่ทำงานเกี่ยวกับด้านศิลปะ ดนตรี จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ได้รับการกระตุ้นคุณหมอกล่าว

การกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์สามารถทำได้ตลอดเวลา เช่น ระหว่างนั่งรถ ก็ชี้ชวนให้ดูและสังเกตสิ่งรอบข้าง ก็ช่วยเสริมทักษะการคิด วิเคราะห์และพัฒนาสมองให้ลูกได้ง่ายๆ


ด้าน ดร.พัฒนา ชัชพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัย กล่าวว่า ในเด็กเล็กวัยไม่เกิน 3 ขวบ การคิดของพวกเขาจะเกิดกับสิ่งรอบตัวที่เห็น เล่น สัมผัสหรือได้กลิ่น ซึ่งเด็กจะเริ่มคิด เรียนรู้และจดจำ โดยเฉพาะการจดจำผ่านการมองเห็นด้วยตาซึ่งจะจำได้มากถึง 80% ส่วน 20% มาจากประสาทสัมผัสอีก 4 อย่างที่เหลือ

การเรียนรู้ที่เด็กได้เห็นและทำ (Learning by Doing) จะช่วยให้พวกเขาจดจำได้ดีขึ้น ที่สำคัญ ผู้เป็นพ่อแม่จำเป็นต้องจัดเตรียมสิ่งแวดล้อมรอบตัวของเด็กให้เหมาะสมและหลากหลาย เช่น สีสัน 3-4 สีที่แตกต่าง ของเล่น 3-4 ประเภท ซึ่งไม่มากจนเกินไปจนเด็กจำไม่ได้หรือทิ้งขว้างผู้เชี่ยวชาญแนะนำ


เครื่องมือสร้างความฉลาด

แผนผังความคิด หรือ Mind Maps เป็นเทคนิคที่ช่วยจัดระบบความคิด ด้วยการถ่ายทอดข้อมูลหรือความคิดลงบนกระดาษโดยใช้สีสัน ตัวอักษร และภาพวาด ทำให้สมองทั้งสองซีกทำงานร่วมกันอย่างสมดุล เชื่อมต่อทั้งส่วนตรรกะและความคิดสร้างสรรค์ จนนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ


ในการทำ Mind Maps เด็กจะต้องหัดวิเคราะห์ข้อมูลจากองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่ในสมอง แล้วสรรหาความคิดหลักเพื่อนำมาถ่ายทอดลงบนกระดาษ เมื่อเด็กได้เห็นภาพรวมความคิดของตัวเอง ก็จะสามารถต่อยอดหาความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ออกมาได้อีก จึงเป็นประโยชน์มากกว่าวิธีการเรียนแบบเดิมที่เน้นการจดและท่องจำ ทั้งยังทำให้สนุกกับการเรียนรู้ เข้าใจในสิ่งที่กำลังเรียนได้ง่ายขึ้น คิดเป็นองค์รวม รู้จักคิดนอกกรอบ ที่สำคัญ ทำให้เด็กรู้จักคิดและจัดเก็บข้อมูลในสมองอย่างเป็นระบบ

แผนผังความคิดนี้สามารถใช้ได้ในเด็กเล็กแม้จะยังวาดไม่ได้ แต่พ่อแม่สามารถเข้ามาช่วยวาด เป็นกิจกรรมสร้างสัมพันธ์ ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้เขาได้เห็นและจดจำผ่านรูปที่พ่อแม่วาดให้ดู จนกระทั่งเมื่อถึงวัย 5-6 ขวบที่สามารถวาดรูปได้ เด็กก็จะได้คิด วิเคราะห์และวาดออกมาเป็นรูป แม้จะไม่เหมือนของจริงนัก แต่เป็นสัญลักษณ์ที่เขาคิดและมองเห็น
  


ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


แสดงความคิดเห็น