กิน-อยู่อย่างไร..ให้ไตอยู่ดี


        
         ปัจจุบันการกินอาหารส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์โดยตรง เรียกว่า กินอย่างไรก็จะได้อย่างนั้น หากเราเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัว กิจวัตรประจำวัน รวมทั้งเลือกกินอาหารที่ดีและมีประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากจะมีสุขภาพที่ดีแล้วยังเป็นแนวทางป้องกันโรคที่ดีด้วย แม้กับผู้ป่วยเป็นโรคต่างๆ ก็ยังต้องเลือกกินให้ถูกกับโรคที่เป็น เพื่อป้องกัน โรคแทรกซ้อนและรักษาคุณภาพชีวิตที่ดีเอาไว้ ซึ่งหนึ่งในโรคที่มีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารและพบบ่อยในคนไทยคือ โรคไตวายเรื้อรัง

         ผศ.ดร.ชนิดา ปโชติการนายกสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ที่เป็นโรคไตส่วนหนึ่งมาจากอาหารที่รับประทาน เช่น อาหารที่มีรสเค็มจัดและอาหารที่ไม่สะอาด ซึ่งการรับประทานอาหารให้ห่างไกลโรคไตนั้น ควรเริ่มจากตัวเราก่อน

         โดยการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร จากที่เคยรับประทานอาหารในปริมาณที่เกินความต้องการของร่างกายก็ควรลดปริมาณอาหารให้น้อยลง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันจากสัตว์และคอเลสเตอรอลสูง รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสจัดเกินไป เช่น หวานจัด เค็มจัด และอาหารที่มีกะทิ เพื่อป้องกันโรคอ้วน ซึ่งจะเป็นสาเหตุสู่โรคอื่นๆ ตามมา เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูงและไขมันอุดตันในเส้นเลือด อันเป็นสาเหตุหลักของการเป็นโรคไตเรื้อรังที่ตามมานอกจากนี้ ควรดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว จะช่วยให้เราห่างไกลจากโรคไตได้

          สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังแล้วก็ควรระมัดระวังไม่ให้โรครุนแรงไปมากกว่าเดิม นอกจากการทานยาตามที่แพทย์สั่งและการล้างไตทางช่องท้องหรือการฟอกเลือดอย่างสม่ำเสมอแล้ว อาหารก็มีส่วนช่วยบำบัดอาการของโรคไตได้ หากเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสม จะช่วยป้องกันภาวะทุพโภชนาการและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังได้

         ผศ.ดร.ชนิดา อธิบายว่า ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ล้างไตด้วยการฟอกเลือดหรือการล้างไตผ่านทางช่องท้อง อาจเกิดภาวะขาดสารอาหารได้ เนื่องจากอาการเบื่ออาหารรวมทั้งมีการสูญเสียสารอาหารระหว่างฟอกเลือดและการล้างไตทางช่องท้อง อาทิ โปรตีนซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการซ่อมแซมร่างกาย และสร้างภูมิคุ้มกัน
 ดังนั้นผู้ป่วยแต่ละคนควรมีความรู้ความเข้าใจในการเลือกกินอาหาร เพื่อให้ได้รับสารอาหารโปรตีนและพลังงานที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

         โดยผู้ป่วยโรคไตจะต้องรับการประเมินภาวะโภชนาการ ซึ่งได้แก่ น้ำหนักตัวผลทางชีวเคมีของเลือด เช่น อัลบูมินหรือวัดโปรตีนในเลือด การประเมินอาการทางคลินิกและการประเมินการบริโภค และนำข้อมูลเหล่านี้ไปปรึกษานักกำหนดอาหารหรือนักโภชนาการ เพื่อจะได้กำหนดปริมาณและรับประทานอาหารให้ถูกต้องเหมาะสมกับภาวะที่ร่างกายต้องการของแต่ละบุคคล

         ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ทั้งเนื้อสัตว์ ข้าว แป้ง ไขมันที่ดี รวมทั้งผักและผลไม้แต่ต้องกินในปริมาณที่แนะนำ เช่น ผลไม้อาจกินเงาะได้ไม่เกินวันละ 8 ผล แต่ควรงดเมื่อผลทางชีวเคมีของโพแทสเซียมในเลือดเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 

         ในขณะเดียวกันสารอาหารโปรตีนที่พบมากในเนื้อสัตว์ต้องรับประทานให้เพียงพอ โดยเน้นบริโภคปลา เพราะเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ดี ย่อยง่าย มีไขมันต่ำ ในผู้ที่ล้างไตทางช่องท้องควรกินให้ได้ 4-6 ช้อนโต๊ะต่อมื้อหรือเท่ากับ 3 กล่องไม้ขีดไฟกล่องเล็กหรือ ไพ่ 1 สำรับและกินไข่ขาววันละ 2 ฟอง

          การจัดอาหารให้น่ารับประทาน และดัดแปลงเมนูให้หลากหลาย จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกอยากรับประทานอาหารมากยิ่งขึ้น เช่น ใช้ "ไข่ขาว" ดัดแปลงเป็นอาหารอื่นไม่ว่าจะเป็น ซูชิ ห้อยจ๊อหรือไส้กรอกอีสาน เป็นต้น นอกจากนี้การนำวุ้นเส้นมาใช้ในตำรับจะช่วยให้ท้องอิ่ม น้ำตาลขึ้นได้อย่างช้าๆ และเพื่อให้ได้พลังงานตามที่กำหนด

          ควรกินอาหารที่ปรุงด้วยวิธีการต้มนึ่ง ย่าง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ น้ำมันในการปรุงอาหาร ประเภทผัด จะต้องเป็นน้ำมันที่มีไขมันไม่อิ่มตัว ควรใช้น้ำมันถั่วเหลืองผสมกับน้ำมันรำข้าวในสัดส่วน 1:1 เพื่อลดการอุดตันของไขมันในเส้นเลือดที่จะนำไปสู่โรคหัวใจ

          ส่วนน้ำมันปาล์ม ใช้สำหรับอาหารประเภททอด โดยหลังทอดเสร็จแล้ว ควรใช้กระดาษซับเอาน้ำมันออก ก็จะช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงที่สำคัญช่วยยืดอายุให้ยืนยาวมากยิ่งขึ้น

          ผศ.ดร.ชนิดา กล่าวเสริมว่าผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง เช่น อาหารทะเล หมูสามชั้น หนังเป็ด หนังไก่ เครื่องในสัตว์ อีกทั้งเนื้อสัตว์แปรรูปและอาหารสำเร็จรูป ได้แก่ ไส้กรอกแฮม ปลาส้ม กุนเชียง รวมถึงเนื้อสัตว์ที่มีรสเค็ม เช่น เนื้อเค็มไข่เค็ม ปลาเค็ม อาหารทะเลแช่แข็งก็เช่นกันเพราะอาหารเหล่านี้มีโซเดียม

         มีงานวิจัยพบว่า การกินโซเดียมเกินกว่าที่กำหนดมีผลต่อความดันโลหิตสูงส่งผลให้หลอดเลือดต่างๆ เสื่อมได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญควรระวังโซเดียม จากเครื่องปรุงที่ใช้ในการปรุงรสอาหาร อาทิ เกลือน้ำปลา น้ำตาล ซึ่งร่างกายไม่ได้มีความต้องการ จึงต้องจำกัดปริมาณให้อยู่ในความเหมาะสม มิฉะนั้นการปรุงรสอาหารตามใจปากอาจเป็นส่วนที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อ ความดันเลือดระบบหัวใจ และระดับแคลเซียมในเลือดส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังหรืออาจทำให้เสียชีวิตได้ 
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยสามารถเพิ่มรสชาติได้โดยการใช้สมุนไพรช่วยในการปรุงรส เช่น หอมแดง ใบมะกรูด กระเทียมข่า ตะไคร้ กระชาย ผักชี ขิง ใบแมงลักเป็นต้น

        นอกจากนี้ควรลดการกินขนมจำพวกขนมปังหรือเค้ก ซึ่งใช้ผงฟูซึ่งมีโซเดียมแฝงอยู่ นอกจากนี้ผงฟูยังมีฟอสฟอรัสซึ่งมีผลต่อกระดูกเปราะในผู้ป่วยไตเรื้อรังหากกินมากเกินไป ควรลดน้ำตาลทรายและอาหารที่มีกะทิ เช่น แกงกะทิ ฉู่ฉี่ ก๋วยเตี๋ยวแขก ข้าวซอย ผลไม้เชื่อมซึ่งมีไตรกลีเซอร์ไรด์ที่นำไปสู่โรคหัวใจ หลีกเลี่ยงอาหารหมักดองและอาหารที่ย่อยยากและชิ้นใหญ่ ไม่ควรกินอาหารมื้อใหญ่ ควรแบ่งเป็นมื้อเล็กๆ หลายมื้อ กินให้พอเหมาะกับกิจกรรม

        นอกจากนี้ ควรจำกัดน้ำดื่มเมื่อมีอาการบวม โดยดื่มน้ำปริมาณเท่ากับปริมาณปัสสาวะต่อวันที่ขับออกมา บวกกับน้ำ 500 ซีซี หลีกเลี่ยงการดื่ม ชา กาแฟช็อกโกแลต น้ำอัดลม เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีทั้งโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสในปริมาณค่อนข้างสูง งดการดื่มสุราและสูบบุหรี่

         ทั้งนี้ผู้ป่วยควรออกกำลังกายเบาๆซึ่งจะช่วยให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่ากล้ามเนื้อแข็งแรง และควบคุมความดันโลหิตได้ดีขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอ และเลี่ยงภาวะตึงเครียดต่างๆ ที่จะทำให้สุขภาพจิตเสื่อมลง ถ้าผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังสามารถปฏิบัติตัวได้ดังกล่าวก็สามารถอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้แม้เป็นโรคไตเรื้อรัง

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ


แสดงความคิดเห็น