มะเร็งเต้านม


มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในสตรีในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยพบว่า 1 ใน 8 ของผู้หญิงอเมริกาจะเกิดมะเร็งเต้านมในช่วงชีวิต สำหรับประเทศไทยมะเร็งเต้านมพบมากเป็นอันดับสองในสตรีรองจากมะเร็งปากมดลูก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามความเจริญในแบบตะวันตก
สาเหตุของมะเร็งเต้านมเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรมโดยเชื่อว่ามียีนส์บางตัวที่มีการกลายพันธุ์แล้วเกิดเป็นเซลส์มะเร็ง ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม อาการการกิน และฮอร์โมนเพศหญิง

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม

-อายุ อัตราเสี่ยงของมะเร็งเต้านมจะเพิ่มขึ้นตามอายุ ซึ่งจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าของทุก ๆ ระยะอายุที่ เพิ่มขึ้น 10 ปี จนกระทั่งถึงวัยหมดประจำเดือน จากนั้นจะคงที่หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
-เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุน้อย
-หมดประจำเดือนเมื่ออายุมาก
-ไม่มีบุตร หรือมีบุตรคนแรกเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี
-มีแม่ พี่น้อง หรือลูก เป็นมะเร็งเต้านมก่อนอายุ 50 ปี
-การใช้ยาคุมกำเนิดตั้งแต่อายุน้อยและใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
-การรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนในสตรีวัยหมดประจำเดือน จะเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนปกติเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพบว่า การรักษาด้วยฮอร์โมนในวัยหมดประจำเดือนมีประโยชน์มากกว่าโทษ โดยเฉพาะลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจ และภาวะกระดูกพรุน

         ลักษณะของโรค 
เริ่มด้วยการมีก้อนเล็ก ๆ ที่เต้านม มักไม่มีอาการเจ็บปวด บวม หรืออักเสบ ก้อนจะโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่อมาอาจคลำพบก้อน เต้านมมีรูปร่างผิดปกติ ผิวหนังบริเวณเต้านมมีลักษณะหยาบและขรุขระ มีการดึงรั้งของหัวนม ในบางรายเมื่อบีบหัวนมจะมีน้ำเหลืองหรือเลือดไหลซึม และเมื่อมะเร็งแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ อาจพบต่อน้ำเหลืองโตหรือมีอาการปวดกระดูก เป็นต้น

         การป้องกันมะเร็งเต้านม 
เนื่องจากการดำเนินของโรคมะเร็งเต้านม ผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติในระยะเริ่มต้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างที่ต้องทำการตรวจค้นหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น การรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมาก การค้นพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นสามารถรักษาให้หายขาดได้ และการรักษาอาจทำได้โดยการตัดเฉพาะก้อนมะเร็งออกไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทั้งเต้านม ในทางตรงกันข้ามหากไม่มีการตรวจค้นหามะเร็งเต้านม รอจนกระทั่งมีอาการผิดปกติ มะเร็งอาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ แล้ว และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
การตรวจค้นหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นทำได้ดังนี้

-การตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกวิธีเดือนละครั้ง หลังหมดประจำเดือนประมาณ 1 สัปดาห์
-การตรวจเต้านมโดยแพทย์ผู้ชำนาญปีละครั้งหลังอายุ 40 ปี
-การตรวจเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) ปีละครั้งหลังอายุ 40 ปี

         การตรวจเอกซเรย์เต้านม 
เป็นวิธีการตรวจหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในวงการแพทย์ วิธีการตรวจทำได้โดยการถ่ายเอกซเรย์ผ่านเต้านมด้วยรังสีพลังงานต่ำเพื่อให้ปรากฏภาพลงบนแผ่นฟิล์ม การตรวจต้องกดเต้านมให้แบนลงอย่างช้า ๆ เพื่อให้มองเห็นความผิดปกติได้ดียิ่งขึ้น และลดปริมาณรังสีที่จะได้รับและอาจมีการตรวจอัลตราซาวด์เต้านมร่วมด้วย เพื่อนำผลการตรวจทั้งสองอย่างมาพิจารณาประกอบกัน ทำให้การวินิจฉัยมีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น
การตรวจแมมโมแกรมควรทำเมื่อไร ในกรณีคนทั่วไปที่ไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมควรเริ่มต้นตรวจเมื่ออายุ 35 ปี โดยตรวจทุก 2 ปี หลังจากอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจเป็นประจำทุกปีหรือตามคำแนะนำของแพทย์

สาเหตุที่ไม่นิยมตรวจในคนที่อายุน้อยกว่า 35 ปี เนื่องจาก
-โอกาสเกิดมะเร็งเต้านมในคนอายุน้อยกวา 35 ปี เนื่องจาก
-ลักษณะภาพเต้านมในคนอายุน้อยมักจะบดบังก้อน
-โอกาสได้รับรังสีตั้งแต่อายุน้อยเพิ่มขึ้น ในกรณีที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม ควรเริ่มตรวจแมมโมแกรมเร็วกว่าคนทั่วไป 5 – 10 ปี 

          การเตรียมตัวก่อนมาตรวจ 
จะตรวจเมื่อไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องงดน้ำงดอาหาร ไม่มีการรับประทานยาหรือฉีดยาใด ๆ ควรมาตรวจหลังจากประจำเดือนหมดแล้ว 7 วัน จะทำให้รู้สึกเจ็บเต้านมลดลงในขณะทำการตรวจ และควรงดทาแป้ง ลูกกลิ้ง หรือน้ำหอมบริเวณหน้าอกและรักแร้
-มะเร็งเต้านมพบมากเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งปากมดลูก
-มะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก ผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติ
-มะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก สามารถรักษาให้หายขาดได้
-การตรวจแมมโมแกรม (Mammography) เป็นการตรวจค้นหามะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นที่ดีและมีประสิทธิภาพ

โดย พญ.เกวลิน บุญลอย

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีวิทยาวินิจฉัย


1 ความคิดเห็น:

  1. แนะนำสมุนไพรสกัดช่วยยับยั้งเชื้อ Hiv หนองใน หูดหงอนไก่ SLE โรคหนังแข็ง ปวดไมเกรน สะเก็ดเงิน เริม ริดสีดวง งูสวัด มะเร็ง เบาหวาน ความดัน ภูมิแพ้ ตกขาว หอบ เก๊าท์ อัมพฤกษ์ ไทรอยด์ ไวรัสตับอักเสบบี เส้นเลือดตีบ แผลอักเสบเรื้อรัง ผู้มีปัญหามีบุตรยาก ไขมันอุดตัน หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และโรคอื่นๆ..สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line:aot-tt และ T.0961025897,, 0625241588,,

    ตอบลบ